วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

The Great Pyramid of Giza

E - Learning :: The Great Pyramid of Giza
พีระมิดคูฟู ( The Great Pyramid of Giza ) . . . . . . .. . .. .พีระมิดคูฟู ( The Great Pyramid of Giza )


3 | | |พีระมิดคูฟู | | | 4




พีระมิดคูฟู หรือ พีระมิดคีออปส์ นิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า มหาพีระมิดแห่งกีซา (อังกฤษ: The Great Pyramid of Giza) เป็นพีระมิดในอียิปต์ที่มีความใหญ่โตและเก่าแก่ที่สุด ในหมู่พีระมิดทั้งสามแห่งกีซา เชื่อกันว่าสร้างขึ้นในสมัย ฟาโรห์คูฟู แห่ง ราชวงศ์ที่ 4 ซึ่งปกครองอียิปต์โบราณ เมื่อประมาณ 2,600 ปีก่อนคริสตกาล หรือกว่า 4,600 ปีมาแล้ว เพื่อใช้เป็นที่เก็บรักษาพระศพไว้รอการกลับคืนชีพตามความเชื่อของชาวอียิปต์ในยุคนั้นมหาพีระมิดนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก และเป็นหนึ่งเดียว ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ยุคโบราณ ที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน




ขนาด และรูปทรง ของพีระมิดคูฟู เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จใน สมัยของฟาโรห์คูฟู มหาพีระมิด มีความสูงถึง 147 เมตร นับจากก่อสร้างแล้วเสร็จ พีระมิดคูฟูนับเป็นสิ่งก่อสร้างสูงที่สุดในโลก เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานถึง 43 ศตวรรษ จนกระทั่งมีการก่อสร้าง " มหาวิหารลินคอล์น "(Lincoln Cathedral) ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งมียอดวิหารสูง 160 เมตร ในปี ค.ศ. 1300 ซึ่งต่อมายอดวิหารนี้ถูกพายุทำลายในปี ค.ศ. 1549 แต่ขณะนั้นส่วนยอดพีระมิดคูฟูก็สึกกร่อนลงจนมีความสูงไม่ถึง 140 เมตร ทำให้วิหารเซนต์โอลาฟ(St. Olav's Church)ในประเทศเอสโตเนีย ซึ่งเพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1519 กลายเป็นสิ่งก่อสร้างสูงที่สุดในโลกด้วยความสูงของยอดวิหาร 159 เมตร ปัจจุบันมหาพีระมิดมีความสูง ประมาณ 137 เมตร ซึ่งต่ำกว่าเมื่อแรกสร้างประมาณ 10 เมตรและรัฐบาลอียิปต์ได้ดำเนินการติดตั้งโครงโลหะเพื่อแสดงถึงความสูงที่แท้จริงขณะก่อสร้างแล้วเสร็จ ไว้ที่ส่วนยอดของ มหาพีระมิดคูฟูรูปทรงของพีระมิดมีลักษณะเฉพาะตัว ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ประกอบด้วย ด้านสามเหลี่ยม4 ด้าน ยอดสามเหลี่ยมแต่ละด้าน เอียงเข้าบรรจบกัน เป็นยอดแหลมฐานทั้ง 4 ด้านของพีระมิดกว้างด้านละประมาณ 230 เมตรคิดเป็นพื้นที่ฐานประมาณ 53,000 ตารางเมตรหรือประมาณ 33 ไร่ ฐานล่างสุดของพีระมิด ก่อขึ้นบนชั้นหินแข็ง ซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้ชั้นทราย เพื่อป้องกันปัญหา การทรุดตัวของชั้นทรายซึ่งจะมีผล กับความคงทนแข็งแรงของโครงสร้างพีระมิด ผิวหน้าแต่ละด้านของพีระมิดคูฟูทำมุมเอียงประมาณ 52 องศา ซึ่งมีส่วนทำให้พีระมิด คงทนต่อการสึกกร่อน อันเนื่องมาจากพายุทรายตามที่มีข้อมูลปรากฏในแหล่งต่างๆ อ้างถึง จำนวนหิน ที่นำมาก่อสร้างพีระมิดคูฟู ต่างกันไปตั้งแต่ 2 ล้านถึง 2.6 ล้านก้อนประมาณน้ำหนักเฉลี่ยก้อนละ 2.5 ตันโดยจัดเรียงซ้อนกันขึ้นไปประมาณ 200 ชั้นคิดเป็นน้ำหนักรวมกว่า 6 ล้านตันสิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือด้านทั้ง 4 ของพีระมิดหันออกในแนวทิศเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตกถูกต้องแม่นยำตามทิศจริงไม่ใช่ตามทิศเหนือแม่เหล็กจึงไม่ใช่การกำหนดทิศด้วยเข็มทิศตำแหน่งของพีระมิดคลาดเคลื่อนจากทิศเหนือเพียง 3 ลิปดา 6 พิลิปดาแสดงถึงความสามารถของ ชาวอียิปต์โบราณในการประยุกต์ความรู้ทางดาราศาสตร์ มาใช้ในการกำหนดทิศทางได้เป็นอย่างดีนอกจากนี้คนงานก่อสร้างพีระมิดคูฟูยังสามารถทำงานได้อย่างเที่ยงตรงน่าทึ่งโดยหินตรงส่วนฐานของพีระมิดจัดวางได้เสมอกันมีความคลาดเคลื่อน เพียงไม่ถึง 2.5 เซนติเมตรและแต่ละด้านขอฐานพีระมิด มีความกว้างคลาดเคลื่อนจากกัน เพียงไม่เกิน 8 นิ้ว หรือคิดเป็นเพียง 0.09 % ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับขนาดงานก่อสร้าง




วิธีการสร้างมหาพีระมิดแห่งกิซ่า วิธีการยกแท่งหินขนาดใหญ่หนักหลายสิบตัน เพื่อประกอบขึ้นเป็นพีระมิดอย่างแม่นยำยังเป็นปริศนาโครงสร้างเหนือห้องเก็บโลงพระศพ ในพีระมิดคีออปส์ ประกอบขึ้นด้วย แท่งหินแกรนิตสีแดงขนาดใหญ่หลายสิบแท่งซ้อนทับกัน 5 ชั้น แต่ละแท่งมีน้ำหนัก 50 ถึง 70 เมตริกตัน แท่งหินขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่พบในหมู่พีระมิดกิซ่าอยู่ภายในวิหารข้างพีระมิดเมนคีเรเป็นแท่งหินปูนที่มีน้ำหนักมากถึง 200 เมตริกตัน เป็นน้ำหนักประมาณ เท่ากับชิ้นส่วนหนักที่สุดภายในเรือไททานิค ซึ่งไม่มีปั้นจั่นใดๆ ในอู่ต่อเรือขณะนั้นสามารถยกได้ จนผู้สร้างเรือต้องว่าจ้างทีมงาน ชาวเยอรมัน มาสร้างปั้นจั่นยักษ์สำหรับยกชิ้นส่วนดังกล่าวเฮโรโดตุส (Herodotus) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก ซึ่งเดินทางไปอียิปต์ช่วง 450 ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 2 พันปีเศษ หลังจากพีระมิดสร้างเสร็จ ได้บันทึกคำบอกเล่าของนักบวชชาวอียิปต์โบราณไว้ว่า ในการสร้างพีระมิดชาวอียิปต์โบราณมีอุปกรณ์บางอย่างทำด้วยไม้ใช้สำหรับยกหินขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามไม่พบหลักฐานอื่น ๆ ที่อ้างอิงถึงเครื่องมือนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด หรือบันทึกโบราณ เฮโรโดตัสยังได้บันทึกไว้ว่า การก่อสร้าง พีระมิดคูฟู ทำเฉพาะช่วงฤดูน้ำหลากซึ่งประชากรว่างจากการเพาะปลูกนั่นคือประมาณปีละ 3-4 เดือน และก่อสร้างอยู่ 20 ปี จึงแล้วเสร็จเนื่องจากเทคโนโลยีในขณะนั้นยังไม่มีระบบปั้นจั่นไม่รู้จักแม้กระทั่งล้อเลื่อน และไม่มีหลักฐานการใช้พาหนะที่ลากด้วยแรงสัตว์ การเคลื่อนย้ายหินจึงใช้แรงงานคนลากเข็นไปบนแคร่ไม้ โดยมีการราดน้ำเพื่อช่วยลดแรงเสียดทาน การเคลื่อนย้ายวัตถุน้ำหนักมาก ๆ ด้วยวิธีนี้มีหลักฐานเป็นภาพแกะสลักนูนต่ำบนฝาผนังหิน ซึ่งแสดงการเคลื่อนย้ายเทวรูปหินขนาดใหญ่ด้วยแรงคนนับร้อยวิธีการลำเลียงหินขึ้นสู่บริเวณก่อสร้างในระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างการก่อสร้างคืออีกส่วนหนึ่งที่เป็นปริศนา แนวคิดแรกเริ่มเชื่อกันว่าชาวอียิปต์โบราณใช้วิธีสร้างทางลาดบริเวณด้านข้างของพีระมิด และชักลากหินขึ้นตามทางลาดที่ก่อสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามความสูงของระดับการก่อสร้างจนถึงจุดสูงสุดยอด และเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจึงทำการรื้อทางลาดดังกล่าวออกคงเหลือไว้แต่ พีระมิด ที่สร้างเสร็จ ถ้าแนวคิดนี้เป็นจริงสิ่งก่อสร้างใหญ่ที่สุดในโลกยุคนั้นอาจไม่ใช่พีระมิดคูฟู แต่อาจเป็นทางลาดสูงเท่าตึก 40 ชั้น ที่ใช้ก่อสร้างพีระมิดแทน มีแนวคิดอื่น ๆ เสนอว่าทางลาดดังกล่าวอาจไม่ได้สร้างอยู่ด้านใดด้านหนึ่งข้างพีระมิด แต่อาจสร้างเป็นทางวนรอบพีระมิดแทน หรือ อาจบางทีแต่ละชั้นของพีระมิดนั่นเองคือทางที่ใช้ชักลากหินขึ้นสู่ชั้นถัดไป ผ่านทางลาดขนาดเล็กที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อระหว่างแต่ละชั้นแม้จะยังไม่มีข้อสรุปถึงวิธีการลำเลียงหินขึ้นสู่บริเวณก่อสร้าง การประกอบหินแต่ละก้อนสามารถสรุปได้ว่าผ่านการตัดแต่งแบบก้อนต่อก้อนเนื่องจากแต่ละก้อนต้องมีขนาดและแง่มุมพอดีกับหินก้อนอื่นๆที่จัดเรียงไว้ก่อนหน้าเพราะในการก่อสร้างพีระมิดไม่มีการใช้วัสดุเชื่อมประสาน หินแต่ละก้อนวางซ้อนกันอยู่ได้ด้วยน้ำหนักกดทับด้านบน และระนาบที่เท่ากันในแต่ละชั้นจึงต้องตัดแต่งอย่างปราณีตแบบก้อนต่อก้อนก่อนประกอบเข้าสู่ตำแหน่งด้วยเครื่องมือง่าย ๆ อย่างไม้วัดระดับแนวราบ และสายดิ่งที่ใช้ตรวจสอบผิวหน้าหินในแนวตั้ง โดยใช้ลิ่มหินควอตซ์ ( Quartz ) ซึ่งเป็นหินอัคนีความแข็งสูงในการขัดแต่งผิวหน้าของหินแต่ละด้านให้เรียบ ช่างหินอียิปต์โบราณสามารถสร้างผลงานดีเยี่ยมจนผิวสัมผัสระหว่างหินแต่ละก้อนห่างกันเพียง0.02นิ้วเท่านั้นควรทราบอีกว่า ณ เวลานั้นโลกยังไม่เข้าสู่ยุคเหล็กโดยที่เทคโนโลยีการตีเหล็กยังไม่ถูกพัฒนาขึ้นจนกว่าอีก 1 พันปี ต่อมา เครื่องมือโลหะที่มีใช้ในสมัยนั้นทำด้วย ทองแดง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายหากต้องการตัดหินปูน และ หินแกรนิตให้ได้ขนาดและรูปทรงตามต้องการ ผู้ศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยียุคโบราณเชื่อว่าช่างอียิปต์โบราณใช้ แท่งโลหะพันด้วยเชือก



วัตถุดิบที่ใช้ในการสร้างพีระมิดแห่งกิซ่า แหล่งหินที่นำมาสร้างพีระมิด ไม่อยู่ในบริเวณที่ก่อสร้างแต่ต้องขนส่งจากเหมืองหินที่อยู่ห่างไกลนับร้อยไมล์ มาตามทางแม่น้ำไนล์ แล้วขนส่งทางบกต่อไปอีกจนถึงบริเวณก่อสร้างซึ่งห่างจากริมฝั่งแม่น้ำไนล์ประมาณ 22 กิโลเมตร หินปูนซึ่งเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างส่วนใหญ่อยู่ทางใต้ห่างไปกว่า 200 กิโลเมตรเรียงรายตามแนวฝั่งทางแม่น้ำไนล์ เหมืองหินปูนใกล้ที่สุดอยู่บริเวณเมืองตูราห่างจากกรุงไคโรไปทางใต้ประมาณ 50 กิโลเมตร ส่วนหินแกรนิตที่ใช้สร้างห้องเก็บพระศพ และโลงพระศพ อยู่บริเวณตอนเหนือของเขื่อนอัสวานในปัจจุบัน ห่างจากบริเวณก่อสร้างไปทางใต้กว่า 900 กิโลเมตร การขนย้ายหินจากระยะทางไกลขนาดนั้นต้องใช้พาหนะขนาดใหญ่ล่องตามแม่น้ำไนล์เป็นแรมเดือน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศไทยจะประมาณเท่ากับการล่องเรือจากเชียงรายลงมาถึงกรุงเทพฯ การลำเลียงหินขึ้นลงจะใช้แคร่เลื่อนไม้และอาจใช้จังหวะที่มีน้ำท่วมเข้าถึงบริเวณเหมืองและพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการขนย้ายหินมีข้อสังเกตว่าพาหนะที่ใช้บรรทุกหินจะต้องสามารถรับน้ำหนักได้มากถึงหลายสิบตันจึงจะสามารถขนแท่งหินแกรนิตขนาดใหญ่ที่ใช้ในการก่อสร้างพาหนะดังกล่าวอาจมีลักษณะคล้ายเรือใหญ่ซึ่งมีคานให้เรือขนาดเล็กกว่าหลายๆลำช่วยกันพยุงรับน้ำหนักอยู่ด้านล่างเมื่อเปรียบเทียบกับเรือขุดขนาดใหญ่ของไทยขนาด 45-55 ฝีพายซึ่งยาวร่วม 30 เมตรยังสามารถรับน้ำหนักได้ไม่เกิน 10 เมตริกตันต่อลำพาหนะที่ชาวอียิปต์โบราณใช้ขนส่งหินหนักถึง 70 เมตริกตันจะต้องรับน้ำหนักได้มากกว่า เรือขุดขนาดใหญ่ของไทยหลายเท่ มีการขุดพบเรือโบราณขนาดใหญ่สร้างด้วยไม้ในบริเวณเดียวกับพีระมิดคูฟูที่เป็นหลักฐานว่าชาวอียิปต์โบราณมีความสามารถในการต่อเรือขนาดใหญ่ได้ดี



แรงงานในการสร้างมหาพีระมิดแห่งกิซ่า หากประมาณจำนวนแรงงานที่ใช้ก่อสร้างพีระมิด จากจำนวนหินที่ใช้ก่อสร้าง 2,500,000 ก้อนหารด้วยระยะเวลาก่อสร้าง ปีละ3-4 เดือนในฤดูน้ำหลากรวม 20 ปีจะพบว่าต้องก่อสร้างให้ได้ประมาณ 1,000 ถึง1,400 ก้อนต่อวัน หากต้องสกัดหินจากเหมืองหินให้ได้ขั้นต่ำวันละ 1,000 ก้อน และต้องมีแรงงานขนหินออกจากเหมืองมายังแม่น้ำ แรงงานสำหรับควบคุมการขนส่งมายังพื้นที่ก่อสร้าง และแรงงานสำหรับยกหินขึ้นฝั่งที่ปลายทาง ถ้าทั้งหมดนี้ใช้คนทั้งสิ้นประมาณ 10 คน ต่อ หิน 1 ก้อน จะต้องมีแรงงานในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คน นอกจากนี้ในบริเวณก่อสร้างยังต้องมีแรงงานสำหรับขนย้ายหินขึ้นสู่บริเวณก่อสร้างบนพีระมิด ผู้เขียนคิดเองว่าน่าจะเป็นแรงงานคนละชุด กับที่ขนย้ายหินมาจากแม่น้ำ และน่าจะต้องใช้คนมากว่า 8 คนต่อหิน 1 ก้อน เนื่องจากเป็นการขนย้ายหินขึ้นสู่ที่สูง ยิ่งการก่อสร้างดำเนินไประดับของพื้นที่ก่อสร้างก็จะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ และยังไม่รวมช่างฝีมือ ในบริเวณก่อสร้างแต่ละชั้น ซึ่งต้องตัดแต่งหินให้ได้ระดับแง่มุมที่ถูกต้องแบบก้อนต่อก้อน เชื่อว่าแรงงานขนย้ายหินรวมกับแรงงานประกอบหิน น่าจะไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นคน ในระหว่างการก่อสร้างแต่ละปี และเป็นไปได้ว่าแรงงานที่หมุนเวียนกันมาก่อสร้างตลอด 20 ปีจะมีถึงกว่า100,000 คนมีเรื่องน่าสังเกตอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับความเชื่อแต่เดิมที่ว่าพีระมิดก่อสร้างขึ้นด้วยแรงงานทาส โดยมีการบังคับกดขี่ทาสอย่างทารุณ ทั้งหมดเป็นเพียงจินตนาการในวงการบันเทิง เมื่อหลักฐานที่พบในเวลาต่อมาบ่งชี้ว่า แรงงานที่มาก่อสร้างพีระมิดเป็นชาวอียิปต์ที่ทำงานด้วยความสมัครใจในระหว่างว่างเว้นจากงานเกษตรกรรม โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นอาหาร เช่น หัวไชเท้าและกระเทียม และในกรณีที่ทำงานได้มากจะมีการจดบัญชีเพื่อจ่ายค่าตอบแทนให้ในรูปแบบอื่นๆ อีกด้วย ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งจากหลักฐานที่พบใหม่ๆ คือแรงงานที่มาก่อสร้างมีการจัดตั้งกันแบ่งเป็นหมวดหมู่ตามลำดับชั้นและมีการกำหนดหน้าที่ให้กับกลุ่มคล้ายกับโครงงานก่อสร้างขนาดใหญ่ในปัจจุบัน